ไททันโนโบอางูยักษ์ 1,500 กิโลกรัม หรือตัวใหญ่กว่างูอนาคอนดา 6 เท่า

ไททันโนโบอา (Titanoboa) เป็นนักล่าแห่งโลกดึกดำบรรพ์ที่น่าหวาดหวั่น ด้วยลำตัวที่สามารถยาวได้ถึงสิ 15 เมตรและน้ำหนักที่อาจมากถึง 1,500 กิโลกรัม ทำให้ไททันโนโบอากลายเป็นหนึ่งในสัตว์เลื้อยคลานที่น่าเกรงขามที่สุด เท่าที่เคยอาศัยอยู่ในโลกใบนี้

ไททันโนโบอา (Titanoboa) อาศัยอยู่บนโลกในยุคพาลีโอซีนตอนต้น เมื่อ 60 – 58 ล้านปีก่อน พวกมันเคยอาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ โดยฟอสซิลของงูยักษ์ชนิดนี้ถูกขุดพบครั้งแรกในเหมืองถ่านหินเคอเรยอน ที่ ลา กูเอจิรา ประเทศโคลัมเบีย

จากชิ้นส่วนของฟอสซิลที่ขุดพบ ประมาณการได้ว่า เมื่อยังมีชีวิต เจ้าของฟอสซิลนี้ มีความยาวถึง 12.8 เมตร และหนักราว 1,135 กิโลกรัม ซึ่งด้วยความใหญ่โตของมัน ทำให้มันถูกเรียกว่า “ไททันโนโบอา” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “งูหลามยักษ์”

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัตว์จำพวกงูจะมีการเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ จนตลอดชีวิตของมัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดว่า งูชนิดนี้อาจเติบโตจนมีความยาวได้ถึง 15 เมตรและหนักเกินกว่า 1,500 กิโลกรัม

15 เมตรยาวแค่ไหนเรามาเปรียบเทียบกันชัดๆ รถบัสคันโตๆ ยังยาวแค่ 9 เมตรเท่านั้นเอง

ด้วยขนาดที่ใหญ่มากจึงทำให้มันเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามที่สุดของอเมริกาใต้ในยุคนั้นและยังครองตำแหน่งงูที่ใหญ่ที่สุด ยาวที่สุดและหนักที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลกอีกด้วย

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้งูยักษ์เกิดขึ้นมาได้นั้น ก็เนื่องมาจากสภาพอากาศในยุคพาลีโอซีนที่อบอุ่นขึ้นกว่าในโลกปัจจุบันมาก ทำให้สัตว์เลื้อยคลานสามารถเติบโตขยายขนาดจนกลายเป็นสัตว์ยักษ์ได้ โดยในยุคนี้ นอกจากงูยักษ์แล้ว ยังมีเต่ายักษ์ที่มีขนาดเท่ารถยนต์และจระเข้ยักษ์หลายชนิดที่ยาวถึงเจ็ดเมตรอีกด้วย

ในยุคที่ไททันโนโบอาดำรงชีวิตอยู่ พื้นที่ส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาใต้เป็นป่าดงดิบเหมือนเช่นป่าอเมซอนในปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คิดว่า งูยักษ์ชนิดนี้น่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในลำน้ำมากกว่าบนบก เนื่องด้วยน้ำจะช่วยพยุงขนาดร่างกายที่ใหญ่โตของมันได้และยังทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างรวดเร็ว

รวมทั้งการอาศัยอยู่ในน้ำยังสามารถพรางตัวใต้น้ำยามที่จะล่าเหยื่อได้ด้วย โดยเหยื่อของไททันโนโบอา ได้แก่ ปลาขนาดใหญ่และสัตว์ในกลุ่มจระเข้โบราณอย่าง เซอเรคอนนิซูคัส และอาคีรอนทีซูคัส ที่มีความยาวหกถึงเจ็ดเมตรและถือเป็นนักล่าที่น่าเกรงขามอีกพวกหนึ่ง

แต่เมื่อเทียบขนาดกับ ไททันโนโบอาที่โตเต็มที่แล้ว พวกมันก็เป็นแค่อาหารคำโตเท่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์คิดว่า ไททันโนโบอาน่าจะล่าเหยื่อด้วยการซุ่มโจมตีและใช้ขากรรไกรที่ทรงพลังงับเหยื่อก่อนจะกลืนลงท้อง แทนการใช้ลำตัวรัดจนเหยื่อขาดใจแล้วจึงกลืนลงไปแบบงูอนาคอนดาและงูหลามในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกเริ่มลดลง ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงและได้ส่งผลให้งูยักษ์กับสัตว์เลื้อยคลานขนาดยักษ์ต้องสูญพันธุ์ไป

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่ของทวีปอเมริกาใต้ เช่นตอนในของป่าดงดิบลุ่มแม่น้ำอเมซอน สภาพแวดล้อมยังคงเป็นดังที่เคยเป็นเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน จึงเป็นไปได้ว่า งูยักษ์อาจยังคงสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมันและรอวันที่จะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้ง ก็เป็นได้

แบ่งปัน