7 เกร็ดความรู้น่าสนใจเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์

ในร่างกายของคนเรายังมีปริศนาหรือความลับหลายอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใน และยังมีอีกหลายอาการที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ซึ่งในบางครั้งอาจเป็นอาการหรือพฤติกรรมที่เราเคยชิน แต่ก็ยังไม่รู้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่? และนี่คือเฉลย 7 เกร็ดความรู้น่าสนใจเกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน จะมีอะไรบ้างไปติดตามกันเลย

#1 ร่างกายของคนเรามีการเจริญเติบโตได้อย่างไร?

อาหารต่างๆ ที่เรากินเข้าไปจะถูกย่อยโดยฟัน แล้วส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร จากนั้นก็จะถูกบดย่อยด้วยน้ำย่อยที่อยู่ในกระเพาะอาหารของเรา จากนั้นสารอาหารและพลังงานต่างๆ ก็จะถูกส่งต่อไปยังเซลล์ที่มีอยู่ทั่วร่างกาย ทำให้เซลล์จะเจริญเติบโต โดยการแบ่งตัวเป็นทวีคูณ จนกระทั่งเกิดการเจริญเติบโตทุกวินาทีที่เราดำเนินชีวิตนั่นเอง

#2 การเจริญเติบโตของคนเรา จะหยุดเมื่อไร?

การเจริญเติบโตของคนเรามีอยู่ 2 ระยะคือ การเติบโตในระยะแรก คือตั้งแต่คลอดออกมาจนกระทั่งถึงอายุ 6 เดือน ส่วนในระยะที่สอง คือช่วงอายุระหว่าง 13-20 ปี เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัยเจริญพันธุ์ ซึ่งในช่วงวัยนี้เด็กผู้หญิงจะโตไวกว่าเด็กผู้ชาย ซึ่งตามธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ผู้หญิงจะสูงเต็มที่เมื่ออายุ 18 ปี ส่วนผู้ชายจะสูงเต็มที่ราวๆ อายุ 20 ปี

#3 อาการสะอึกเกิดจากอะไร?

ในสภาวะปกติที่เราหายใจเข้าออก กล้ามเนื้อใหญ่ซึ่งกั้นระหว่างช่องท้อง และช่องทรวงอกจะทำหน้าที่เป็นตัวดึงและผลักให้ปอดทำงาน แต่ถ้าอวัยวะที่อยู่ใกล้กับกล้ามเนื้อนี้เกิดระคายเคืองขึ้นมา จะทำให้มันหดตัวอย่างกะทันหัน เมื่อเราหายใจเข้า ลิ้นที่หลอดลมจะปิด ทำให้เกิดการคลั่งของลมคล้ายอาการจุก นั่นคือผลของการสะอึกนั่นเอง

#4 อาการจั๊กจี้เกิดจากอะไร?

อาการจั๊กจี้หรือบางคนมักเรียกว่าอาการเส้นตื้น เกิดจากกระแสสัมผัสที่ถูกกระตุ้นตรงปลายประสาทผิวหนัง แล้วสั่งการไปยังสมอง ซึ่งการรับสื่อสัมผัสดังกล่าว เปรียบเสมือนการรับข่าวสารและแปลข่าวสารในสมองของเราเอง และก็ขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ได้รับด้วยเช่นกัน เช่น ถ้าเป็นความรู้สึกคัน ก็จะเกา แต่ถ้ารู้สึกจั๊กจี้ สมองก็จะสั่งให้เราหัวเราะนั่นเอง

#5 ลิ้นของเรารับรู้รสชาติของอาหารได้อย่างไร?

การที่เราได้รับรู้รสชาติของอาหารต่างๆ ที่เรากินเข้าไปนั้น อันที่จริงแล้วเกิดจากปุ่มต่างๆ บนลิ้นของเรา ส่งกระแสประสาทไปยังสมอง เช่น เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม ต่างๆ ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าถ้าเราแลบลิ้นออกมาแล้วส่องกระจกดู ก็จะเห็นปุ่มเล็กๆ สากๆ บนลิ้นมากมาย ซึ่งปุ่มต่างๆ เหล่านี้เอง ที่เป็นที่รับรู้รสชาติของอาหารที่เรากินเข้าไป

แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราแลบลิ้นออกมาแล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นเอาเกลือหรือน้ำตาลหนึ่งก้อนวางไว้บนลิ้น เราจะไม่มีความรู้สึกว่าเค็มหรือหวานเลย ต้องรอจนกว่าน้ำลายจะไหลออกมาคลุกเคล้ากับน้ำตาลหรือเกลือที่อยู่บนลิ้นของเรา ซึ่งจะเป็นการทำให้เปียกก่อน กระแสประสาทจากปุ่มรับรสจึงจะส่งข้อมูลไปยังสมอง เราจึงจะมีความรู้สึกต่อรสหวานหรือเค็มนั่นเอง

#6 ระหว่างกระดูกของเด็กกับผู้ใหญ่ ใครมีมากกว่ากัน?

ถ้าเราคิดเล่นๆ หรือ หากมองผิวเผินอาจคิดว่าผู้ใหญ่ที่ตัวโตกว่าน่าจะมีกระดูกมากกว่าเด็ก แต่อันที่จริงแล้วเป็นความคิดที่ผิดถนัด เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้สรุปออกมาแล้วว่า ในตัวของเด็กจะมีกระดูกมากถึง 300 ชิ้น ส่วนผู้ใหญ่จะมีกระดูกเพียง 206 ชิ้นเท่านั้นเอง เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงวัยเจริญเติบโตของเด็กนั้น จะมีกระดูกบางส่วนคือประมาณ 2 – 3 ชิ้น ค่อยๆ รวมตัวกันให้ประติดประต่อเป็นชิ้นเดียวกัน พอเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่จำนวนกระดูกจึงน้อยชิ้นลงไปนั่นเอง

#7 จะรู้ได้อย่างไรว่าเราถนัดตาขวาหรือตาซ้าย?

การที่เรามองเห็นสิ่งต่างๆ นั้น เราสามารถมองเห็นได้ด้วยสองตาของเราก็จริง แต่อันที่จริงแล้วคนเราจะถนัดตาข้างใดข้างหนึ่งเป็นหลักเท่านั้น เพราะสมองของเราจะรับกระแสประสาทการมองเห็นจากตาข้างที่ถนัดเท่านั้น

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าดวงตาข้างไหนที่เราถนัด มีวิธีทดสอบง่ายๆ ก็คือ ให้เราหยิบปากกาขึ้นมาในแนวดิ่ง ชูขึ้นให้สุดแขน แล้วยกขึ้นลงในระดับสายตาของเรา จากนั้นให้เล็งเป้าไปที่วัตถุใดก็ได้ที่อยู่ด้านหลังของปากกา แล้วหลับตาทีละข้าง สมมติว่าหลับตาขวาแล้วปากกาอยู่ที่เดิม แต่ถ้าหลับตาซ้ายจะเห็นปากกาเคลื่อนที่ไปทางขวา แสดงว่าเราเป็นคนถนัดตาขวานั่นเอง

แบ่งปัน