การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของโลกที่กลายเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดคือ การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์ ทว่าทุกวันนี้ก็มีการสูญพันธุ์อย่างรวดเร็วของหลายสปีชีส์ในโลก และที่สำคัญต้นเหตุแห่งการสูญพันธุ์ระยะหลังมานี้มีมนุษย์เป็นสาเหตุหลักทั้งนั้น น่าเสียดายที่สิ่งมีชีวิตหลายชนิดไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยน้ำมือมนุษย์ เช่น ภาวะโลกร้อน การทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกมัน การเพิ่มจำนวนของประชากร ทำให้สิ่งมีชีวิตบางส่วนที่ไม่อาจปรับตัวได้ต้องประสบชะตากรรมที่ไม่ต่างจากไดโนเสาร์นั่นคือ การสูญพันธุ์ไปจากโลกตลอดกาล และนี่คือ 5 สายพันธุ์ที่กลับมาผงาดบนโลกอีกครั้ง หลังจากที่พวกมันเคยถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว
#1 วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai)
วาฬโอมูระ (Balaenoptera omurai) เป็นชื่อเฉพาะของวาฬที่มีครีบเล็กๆ สายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งชื่อนี้ถูกตั้งให้พวกมันในปี 2003 จากการพบซากที่ตายแล้วของมันพบว่า มันมีความยาวประมาณ 10 เมตร และหลังจากค้นพบและวัดขนาดของซากของพวกมัน ก็ไม่มีใครค้นพบพวกมันอีกเลย
จนกระทั่งปี 2013 ได้มีการรายงานว่า พบฝูงวาฬขนาดเล็กที่มีลักษณะคล้ายกับวาฬโอมูระอยู่ที่แถบชายฝั่งของเกาะมาดากัสการ์ และจากการตรวจสอบ DNA ในภายหลัง ก็พบว่ามันคือ วาฬโอมูระจริงๆ
#2 ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth)
ปลาซีลาแคนท์ (Coelacanth) เป็นสปีชีส์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด เดิมทีพวกเราคิดว่ามันควรสูญพันธุ์ไปแล้วพร้อมๆ กับไดโนเสาร์
แต่ในปี 1938 กลับมีการค้นพบพวกมันที่ชายฝั่งของแอฟริกาใต้ ปลาซีลาแคนท์นี้มีความใกล้ชิดทางสายพันธ์กับพวกปลามีปอด และคาดว่าตัวมันเองเป็นวิวัฒนาการที่อยู่ระหว่างปลากับสัตว์สี่เท้า โดยปกติแล้วมันอาศัยอยู่ตามถ้ำในน้ำลึก และสันนิษฐานกันว่ามันมีจำนวนเหลืออยู่ไม่ถึง 500 ตัว
#3 ตั๊กแตนกิ่งไม้ลอร์ดฮาว (Lord Howe)
ตั๊กแตนกิ่งไม้ลอร์ดฮาว (Lord Howe) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ ขนาดพอๆ กับฝ่ามือของมนุษย์ผู้ใหญ่ ถิ่นกำเนิดของมันอยู่ในเกาะลอร์ดฮาว มหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อว่ามันสูญพันธุ์ไปแล้วในปี 1960 หลักจากพบซากตัวอย่างของมัน เชื่อว่าพวกมันสูญพันธุ์ด้วยหนูจากเรือที่พัดมาเกยตื้นในปี 1920
จนกระทั่งในปี 2001 ได้มีการค้นพบแมลงกว่า 24 สายพันธุ์บนเกาะนี้ และพบว่ามีพวกตั๊กแตนกิ่งไม้ลอร์ดฮาวอยู่กว่า 9,000 ตัว พวกมันในวัยโตเต็มวัยจำนวนหนึ่งถูกจับกลับมาเพาะพันธุ์ และจะส่งคืนไปยังธรรมชาติเมื่อมีการกำจัดหนูในพื้นที่อย่างสมบูรณ์แล้ว
#4 นกโต้คลื่นนิวซีแลนด์ (New Zealand Storm Petrel)
มันเป็นนกทะเลที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ในทะเล มันออกหากินเวลากลางคืน และไม่ค่อยกลับเข้าสู่แผ่นดินใหญ่เท่าไรนัก จึงไม่ค่อยมีคนพบเห็นพวกมันตั้งแต่ปี 1850
จนกระทั่งในปี 2003 มีคนบันทึกภาพถ่ายของพวกมันไว้ได้ และในปี 2005 ได้มีการจับพวกมันสามตัวมาติดตั้งอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ทำให้สามารถติดตามพวกมันไป และพบประชากรของพวกมันจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันได้มีการอนุรักษ์คุ้มครองพวกมัน หลังจากมีการค้นพบรังและสถานที่ขยายพันธุ์ของมันในปี 2013
#5 ค้างคาวหลังโกร๋นฟิลิปปินส์ (Philippine Naked-Backed Fruit Bat)
ครั้งหนึ่งมันเคยเป็นค้างคาวที่มีจำนวนมากจนมูลปริมาณมหาศาลของพวกมันถูกใช้เป็นปุ๋ย แต่มันได้รับการประกาศว่า สูญพันธุ์ในปี 1996 เพราะไม่มีใครพบมันตั้งแต่ปี 1994 แม้ว่าจะมีการค้นหาอย่างหนักก็ตาม ส่วนหนึ่งคาดว่าพวกมันถูกล่า และคิดว่าพื้นที่อยู่อาศัยเดิมของพวกมันถูกมนุษย์บุกรุกเพื่อทำไร่อ้อย
แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการค้นพบพวกมันอีกครั้งในปี 2001 ในหมู่เกาะเซบูและหมู่เกาะเนกรอส และปัจจุบันได้มีการปกป้องไม่ให้พวกมันถูกมนุษย์คุกคาม แม้สัตว์เหล่านี้อาจทำให้เกิดความหวังว่าพวกสัตว์ที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว อาจมีชีวิตรอดอยู่ที่ไหนสักแห่ง แต่ในความเป็นจริงน้อยครั้งมากที่สัตว์ที่ถูกลงบันทึกว่าสูญพันธุ์ไปแล้วจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ดังนั้นเราควรจะอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ไว้ เพื่อให้แน่ใจว่าพวกมันยังอยู่รอด มากกว่าคาดหวังว่าจะมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่เชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว