วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันเกิดของเซอร์อาเธอร์ โคนัน ดอยล์ นักเขียนชาวสก๊อตเจ้าของผลงาน “เชอร์ล็อก โฮล์มส์” ต้นแบบของนิยายสืบสวนที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน สำหรับวันนี้เราจะมารู้จักเชอร์ล็อกให้มากขึ้นกันดีกว่า และนี่คือ 14 เรื่องราวน่าสนใจเกี่ยวกับ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่คุณอาจไม่เคยรู้
#1 A Study in Scarlet ถูกปฏิเสธมา 3 ครั้ง
เชอร์ล็อก โฮล์มส์ปรากฏตัวในนวนิยายสั้นของเซอร์อาเธอร์เรื่อง A Study in Scarlet ซึ่งถูกสนพ.ต่างๆ ปฏิเสธตีพิมพ์ถึง 3 แห่ง จากนั้นเขาเลยส่งนิยายเรื่องนี้ให้สนพ. Ward Lock & Co. หัวหน้ากองบก. เลยเอาต้นฉบับให้ภรรยาตัดสิน ภรรยาของเขาชอบผลงานของเซอร์อาเธอร์มาก และยังบอกอีกว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็น “นักเขียน” เชอร์ล็อก โฮล์มส์จึงถือกำเนิดได้ในที่สุด
#2 ความสำเร็จมาจากซีรี่ส์
เราอาจเข้าใจว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์แต่ละตอนนั้นตีพิมพ์เป็นเล่ม จริงๆ แล้วมีแค่ A Study in Scarlet กับ The Sign of Four ซึ่งเป็นนวนิยายสั้นเท่านั้นที่ได้พิมพ์แยกเป็นเล่ม หลังจากสองเรื่องนี้ เซอร์อาเธอร์มีไอเดียใหม่ เขาตัดสินใจเขียนเรื่องของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในรูปแบบของตอนสั้นๆ ลงในนิตยสาร The Strand ของอังกฤษ โดยแต่ละตอนยังคงมีตัวละครตัวเดิม นั่นคือเชอร์ล็อก โฮล์มส์ กับดอกเตอร์วัตสัน คอยคลี่คลายคดีที่จบในตอน
ไอเดียนี้ของเซอร์อาเธอร์ถือเป็นเรื่องใหม่และประสบความสำเร็จยิ่งกว่านวนิยายสองเล่มแรกเขาเสียอีก
#3 ขอบคุณอเมริกา ผู้ชุบชีวิตเชอร์ล็อก โฮล์มส์
จริงๆ แล้วคนที่ขอให้เซอร์อาเธอร์เขียนเชอร์ล็อก โฮล์มส์เล่ม 2 คือบก. Ward Lock & Co. ฝั่งอเมริกา เนื่องจากยอดขาย A Study in Scarlet ในอังกฤษไม่ค่อยเปรี้ยงปร้างนัก แต่ The Sign of Four ที่เซอร์อาเธอร์เขียนส่งไปอเมริกานั้นขายได้ค่อนข้างดีทีเดียว (หรือเพราะคนเยอะกว่านะ)
#4 เชอร์ล็อก โฮล์มส์ก็มีเรื่องที่ไม่รู้เหมือนกัน
แม้ว่านักสืบคนนี้จะเป็นเจ้าแห่งศาสตร์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการสืบสวนคดี แต่อะไรที่ไม่สำคัญในการสืบสวนเขาก็ไม่รับรู้เลย เช่น ในฉากหนึ่งของ A Study in Scarlet หลังจากเชอร์ล็อก โฮล์มส์รู้ว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ เขาก็บอกว่าจะลืมมันเสีย ทำให้วัตสันตกใจมาก
โฮล์มส์อธิบายว่า เขามองสมองมนุษย์เป็นเหมือนห้องใต้หลังคาขนาดเล็ก และเจ้าของห้องนั้นต้องเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่จะใส่เข้าไปในพื้นที่นั้นให้เกิดประโยชน์ที่สุด ซึ่งเขาคิดว่าจะโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หรือหมุนรอบดวงจันทร์ ก็ไม่ได้มีผลต่อแนวทางการสืบสวนของเขา จะจำให้รกสมองทำไม ก็จริงนะ
#5 ไอคิวที่แท้จริงของเชอร์ล็อก โฮล์มส์
ทุกคนรู้ว่าเชอร์ล็อก โฮล์มส์ฉลาดมาก และความคิดของเขาออกจะเกินกว่าที่คนธรรมดาอย่างเราจะเข้าใจ มีหรือที่คนจะไม่อยากรู้ว่าถ้านักสืบคนนี้เป็นคนในโลกแห่งความจริงเขาจะมีไอคิวเท่าไร จอห์น แรดฟอร์ด ทำการทดสอบนี้และได้ข้อสรุปว่าเขามีไอคิวราว 190
เอาล่ะ เราๆ ท่านๆ มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 100-110 อันนี้เป็นไอคิวมาตรฐาน ส่วนบุคคลจริงในประวัติศาสตร์ที่มีไอคิวสูงก็เช่น กาลิเลโอ (185) เรอเน่ เดส์การ์ต (180) ชาร์ลส์ ดาร์วิน (165) โมซาร์ท (165) ไอสไตน์ (160) ดังนั้นไอคิวระดับเชอร์ล็อก โฮล์มส์จึงถือว่ากว่าตำนานเหล่านั้น
#6 ไอรีน แอดเลอร์ ไม่เคยเห็นตัวจริงของเชอร์ล็อก โฮล์มส์
ในแต่ละตอนของซีรี่ส์เชอร์ล็อก โฮล์มส์ (ที่เซอร์อาเธอร์เขียน) ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่ไอรีน แอดเลอร์ได้พบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ในสภาพเชอร์ล็อก โฮล์มส์จริงๆ ทุกครั้งที่เจอกัน เขาต้องกำลังปลอมตัวอยู่เสียร่ำไป ไม่เป็นนักบวชก็เป็นหนุ่มขี้เมา แถมไม่เคยได้คุยกันตัวต่อตัวอีกต่างหาก
#7 หมวกแก๊ปล่าสัตว์ ไปป์สุดหรู และคำพูดติดปาก
ที่กล่าวมาในหัวข้อนั้นไม่มีในเชอร์ล็อก โฮล์มส์ฉบับดั้งเดิมของเซอร์อาเธอร์เลย เชอร์ล็อก โฮล์มส์แต่เดิมนั้นไม่ได้สวมหมวกแก๊ปล่าสัตว์แบบที่เราเห็นเป็นสัญลักษณ์ แต่สวมหมวกผ้าทรงวิคตอเรียน และสูบไปป์ Clay briar ทรงตรง ไม่ใช่ Calabash ทรงโค้ง อีกทั้งยังไม่มีคำพูดติดปากอย่าง “Elementary, My Dear Watson!” อีกด้วย
แต่คนที่ทำให้ภาพลักษณ์นี้ติดตาคนดูคือ วิลเลียม ยิลเล็ต นักแสดงชาวอเมริกันที่รับบทเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ทั้งในเวอร์ชั่นละครเวที และหนังเงียบ วิลเลียมคือตำนาน ผู้สร้างภาพเชอร์ล็อก โฮล์มส์เวอร์ชั่นที่เราเห็นกันในปัจจุบันนี้
#8 กลุ่มคนรักเชอร์ล็อก โฮล์มส์เกือบพันกลุ่มทั่วโลก
เมื่อนิยายดัง ก็ต้องมีแฟนคลับเป็นจำนวนมาก และสำหรับแฟนๆ เชอร์ล็อก โฮล์มส์ พวกเขาตั้งกลุ่มคนรักเชอร์ล็อก โฮล์มส์เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนิยายเรื่องนี้ จัดกิจกรรมจำลองการสืบสวน และยังมีชื่อกลุ่มแปลกๆ อย่าง เช่น กลุ่มคนไข้ที่วัตสันทอดทิ้ง (เดนเวอร์, อเมริกา) กลุ่มไอรีนทั้งสามและโมริอาร์ตี้ทั้งสอง (อากิตะ, ญี่ปุ่น)
#9 เชอร์ล็อก โฮล์มส์เป็นตัวละครที่มีคนแสดงมากที่สุด
วงการบันเทิงทั้งในอเมริกาและอังกฤษต่างหยิบเชอร์ล็อก โฮล์มส์มาปัดฝุ่นทำใหม่อยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์ หรือซีรี่ส์ ใช้นักแสดงทั้งสิ้น 75 คน สองคนที่เป็นที่พูดถึงในขณะนี้คือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ จากเวอร์ชั่นหนังล่าสุดของฮอลลีวู้ด กับเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบชจากเวอร์ชั่นซีรี่ส์ของบีบีซี ที่นำเสนอภาพเชอร์ล็อก โฮล์มส์กับดอกเตอร์วัตสันในยุคศตวรรษที่ 21
เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบชจากเวอร์ชั่นซีรี่ส์ของบีบีซี
#10 อัจฉริยะพลาดได้
คดี The Yellow Face จาก The Memoirs of the Sherlock Holmes เป็นคดีหนึ่งที่ข้อสันนิษฐานของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ผิด แต่สรุปถูก จนกระทั่งเฉลยความจริง เชอร์ล็อก โฮล์มส์ถึงรู้ว่าตัวเองสันนิษฐานผิด
#11 ผู้ริเริ่มทฤษฎีพิสูจน์หลักฐาน
นิยายของเซอร์อาเธอร์นำเสนอทฤษฎีการเก็บหลักฐานเพื่อใช้ในการไขคดีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บลายนิ้วมือ (1890) ซึ่งมีใช้จริงที่อาร์เจนตินาในปี 1892, วิเคราะห์หาต้นกำเนิดของเอกสารจากเครื่องพิมพ์ดีด (1891) ซึ่งเริ่มใช้จริงปี 1894, วิเคราะห์คราบเลือด (1887) เริ่มใช้จริงในปี 1901, หรือการวิเคราะห์ระยะยิง (1893) ที่เพิ่งมีคนวิจัยออกมาได้จริงในปี 1898
#12 รายได้ของนักสืบชื่อดัง
ในนิยายเราไม่ค่อยได้เห็นโฮล์มส์บ่นเรื่องเงินๆ ทองๆ สักเท่าไร ว่าแต่ฐานะของนักสืบคนนี้เป็นยังไงนะ ดูเหมือนว่าเขาก็ไม่ได้ขัดสนอะไรแต่เดิมอยู่แล้วนี่ เราไม่รู้ว่าแต่ละคดีที่โฮล์มส์คลี่คลายนั้นเขาได้ค่าจ้างเท่าไร (หรือได้ไหม?) แต่มีคนวิเคราะห์ไว้ว่าเทียบจากเคสดังๆ ที่เขาคลี่คลายได้และมีหลักฐานว่าได้รับเงินเป็นก้อนจริง จาก 4 เคสนี้
The Priory School: 6,000 ปอนด์ (566,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)
The Beryl Coronet: 1,000 ปอนด์ (94,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)
The Blue Carbuncle: 1,000 ปอนด์ (94,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)
A Scandal in Bohemia: 1,000 ปอนด์ (94,000 ปอนด์ในปัจจุบัน)
แค่เคสใหญ่นี้ก็ทำให้เขารวยไม่รู้เรื่องไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงคดีเล็กคดีน้อยที่เขาคลี่คลายในตอนต่างๆ อีก เห็นขนาดนี้แล้ว พวกเราคงไม่ต้องห่วงเรื่องเงินในกระเป๋าของนักสืบคนโปรดหรอกเนอะ
#13 ตอนที่ทั้งนักเขียนและนักอ่านชื่นชอบที่สุด
จากบทสัมภาษณ์เซอร์อาเธอร์ใน The Strand ปี 1927 และผลสำรวจของ The Baker Street Journal และ The Sherlock Holmes Journal ปี 1946, 1954, 1959, 1989 และ 1999 เซอร์อาเธอร์และแฟนๆ ลงความเห็นให้ตอน The Speckled Band เป็นตอนที่พวกเขาชอบที่สุดและดีที่สุด
#14 หมอวัตสันไม่ได้เล่าเรื่องเองทุกตอน
เสน่ห์ของเรื่องเชอร์ล็อก โฮล์มส์อย่างหนึ่งคือแม้เชอร์ล็อก โฮล์มส์จะเป็นตัวเอกของเรื่อง แต่เรื่องนี้กลับเล่าในมุมมองของคุณหมอวัตสัน คู่หูของเขาแทน แต่มีอยู่ 2 ตอนที่เล่าด้วยมุมมองบุคคลที่ 3 และมี 2 ตอนที่เชอร์ล็อก โฮล์มส์เป็นคนเล่าเรื่องเอง