10 เรื่องราวในจักรวาลที่นักวิทย์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

สำหรับนักดูดาวแล้วดาวฤกษ์บนท้องฟ้าจะส่องแสงระยิบระยับคล้ายๆ กัน แต่ในความเป็นจริงดาวฤกษ์ในจักรวาลกำลังเดินไปบนเส้นทางวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน และจุดจบของแต่ละดวงดาวก็ไม่ใช่ความสิ้นสุด ทว่ามันคือความแปรเปลี่ยนไปเป็นเทหวัตถุใหม่หลากหลายชนิด ตั้งแต่ดาวแคระขาวไปจนกระทั่งถึงหลุมดำ ซึ่งหลายชนิดมีความลึกลับและน่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง ต่อไปนี้คือ 10 เรื่องราวในจักรวาลที่นักวิทย์ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย

#1 ดาวแคระขาว

เมื่อดาวฤกษ์ซึ่งมีมวลขนาดดวงอาทิตย์หรือน้อยกว่า 1.4 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ เผาผลาญเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมดไป ผิวนอกของมันจะระเบิดและกระจายไปในอวกาศ ส่วนแกนกลางจะยุบตัวลงกลายเป็นดาวแคระขาว (White Dwarf)

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเปลือกของดาวแคระขาวซึ่งมี ความหนาราว 31 ไมล์หรือ 50 กิโลเมตรเป็นผลึกของคาร์บอนและออกซิเจนซึ่งคล้ายกับเพชร ดาวแคระขาวจึงถูกเรียกขานว่าเพชรในอวกาศ

#2 ดาวแม็กเนตาร์

เป็นดาวนิวตรอนชนิดหนึ่ง ความน่าพิศวงของมันก็คือ สนามแม่เหล็กของดาวแม็กเนตาร์มีพลังงานสูงกว่าสนามแม่เหล็กของโลกหลายพันล้านเท่า มันปล่อยรังสีเอ็กซ์ออกมาทุกๆ 10 วินาที และบางครั้งยังปล่อยรังสีแกมมาออกมาอีกด้วย

#3 กระจุกดาว

ดาวฤกษ์ต่างๆ ในกาแล็กซี่ไม่ได้อยู่กันตามลำพังหรือเป็นคู่ๆ หรือสามสี่ดวงเท่านั้น ทว่ายังมีดาวฤกษ์อยู่ใกล้กันเป็นกระจุกอีกด้วย บางกระจุกอาจมีดาวฤกษ์เพียงไม่กี่สิบดวง แต่บางกระจุกอาจมีดาวฤกษ์มากถึงหลายล้านดวง ดาวฤกษ์เหล่านี้กำเนิดในช่วงเวลาเดียวกันและในบริเวณเดียวกันก็จริงแต่ทำไมพวกมันจึงอยู่รวมกันเป็นกระจุก? นี่เป็นปริศนาที่ยังหาคำตอบไม่ได้จนทุกวันนี้

#4 พัลซาร์

ปี 1999 นักดาราศาสตร์ตรวจพบรังสีเอ็กซ์และรังสีแกมมาที่ปล่อยออกมาจากดาวนิวตรอน เชื่อกันในขณะนั้นว่ามันเป็นการระเบิดซึ่งเกิดจากการสั่นไหวของพื้นผิวดาวนิวตรอนที่เรียกว่า Starquake คล้ายกับแผ่นดินไหวบนโลก ทว่าการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ของ จอห์น มิดเดิลดิตช์ นักวิทยาศาสตร์ของห้องทดลองแห่งชาติลอส อลามอส และทีมงานพบว่ามันเกิดจากการหมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็ว ดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองอย่างเร็วจะถูกเรียกว่าพัลซาร์ (Pulsar)

#5 ซุปเปอร์สตาร์

จักรวาลก็มีซุปเปอร์สตาร์ มันคือดาวนิวตรอน (Neutron Stars) ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์มวลมาก (1.5 ถึง 3 เท่าของดวงอาทิตย์) ระเบิดเป็นซุปเปอร์โนวาเมื่อมันเผาผลาญเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จนหมดและยุบตัวลง

ดาวนิวตรอนเป็นดาวที่มีความหนาแน่นมากที่สุด อัดแน่นไปด้วยนิวตรอนเกือบทั้งหมด เนื้อดาวขนาดหนึ่งช้อนชาจะหนักถึงหนึ่งพันล้านตันบนโลกหรือมากกว่า ดาวนิวตรอนที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์แต่กลับมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับเมืองเล็กๆ เท่านั้น

เมื่อปี 2005 นาซาตรวจพบดาวนิวตรอนสองดวงชนกันซึ่งปล่อยรังสีแกมมาออกมาอย่างมหาศาล มีความสว่างเท่ากับแสงของดวงอาทิตย์ถึง 100,000 ล้านล้านเท่า นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการชนกันของดาวนิวตรอนจะกลายเป็นหลุมดำในที่สุด

#6 ดาว RRATs

นักดาราศาสตร์ค้นพบคลื่นวิทยุที่ส่งมาจากดาวปริศนาหลายดวงในกาแล็กซี่ทางเผือก เป็นช่วงๆ และในเวลาสั้นๆ เพียง 1 ในร้อยของวินาทีเท่านั้น การศึกษาพัลซาร์หรือดาวนิวตรอนที่หมุนรอบตัวเองอย่างรวดเร็วและปล่อยรังสี เอ็กซ์ รังสีแกมมา คลื่นวิทยุและแสงสว่างออกมาเป็นจังหวะ

การศึกษาดาวมากกว่า 800 ดวง พบว่าไม่ใช่ต้นตอ เพราะการส่งคลื่นวิทยุของมันแตกต่างกัน แต่มีดาวปริศนา 1 ดวง ที่หมุนรอบตัวเองคล้ายกับพัลซาร์ นักดาราศาสตร์เรียกดาวปริศนานี้ว่า Rotating Radio Transients หรือ RRATs และ เชื่อว่ามันอาจจะเป็นดาวนิวตรอนชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการแตกต่างจาก ดาวนิวตรอนและดาวแม็กเนตาร์หรือกำลังวิวัฒนาการจากดาวนิวตรอนไปเป็นดาวแม็กเนตาร์ก็เป็นได้

#7 ระบบดาวฤกษ์

ดาวฤกษ์ส่วนใหญ่ในกาแลกซี่ทางช้างเผือกไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวอย่างดวงอาทิตย์แต่ อยู่รวมกันเป็นระบบที่เรียกว่า Multiple-Star Systems โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งจะอยู่กันเป็นคู่ๆ ที่เรียกว่า Binary Stars นอกจากพวกมันจะอยู่รวมกันแล้ว ดาวฤกษ์เหล่านี้จะมีดาวเคราะห์บริวารด้วยหรือไม่ ในปี 2005 นักดาราศาสตร์ก็ได้คำตอบเมื่อพบดาวเคราะห์บริวารดวงแรกของดาวฤกษ์คู่

#8 ซุปเปอร์โนวา

ปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นที่สุดในท้องฟ้าอย่างหนึ่งก็คือ ซุปเปอร์โนวา (Supernova) การระเบิดของดาวฤกษ์มวลมากที่หมดอายุขัย ซึ่งจะส่งลำแสงพลังงานสูงและสสารสูอวกาศ และยุบตัวลงเป็นดาวนิวตรอนหรือหลุมดำ

ซุปเปอร์โนวามีความสว่างจ้าบนท้องฟ้าชั่วขณะหนึ่งซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าแม้ในเวลากลางวัน นับตั้งแต่เกิดซุปเปอร์โนวาเคปเลอร์เมื่อปี 1604 แล้ว นักดาราศาสตร์ก็ยังไม่พบซุปเปอร์โนวาที่เกิดในกาแล็กซี่ทางช้างเผือกอีกเลย

#9 โซลาร์แฟลร์

ดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะก็มีความน่าพิศวง บรรยากาศของดวงอาทิตย์หรือ คอโรนา (Corona) จะมีอุณหภูมิสูงถึง 3.6 ล้านองศาฟาเรนไฮต์ หรือ 2 ล้านองศาเซลเซียส พลังงานความร้อนที่สูงมากขนาดนี้จะสาดอนุภาคพลังงานสูงที่มีประจุไฟฟ้าให้ พุ่งออกจากดวงอาทิตย์ด้วยความเร็วสูงเกือบเท่าความเร็วแสง

การประทุนี้เรียกกันว่าโซลาร์แฟลร์ (Solar Flares) ซึ่งทำให้เกิดพายุสุริยะ เมื่อพายุสุริยะเดินทางถึงชั้นบรรยากาศของโลกมันสามารถทำลายระบบสื่อสารและ ดาวเทียมของโลกหรือ แม้กระทั่งโทรศัพท์มือถือได้

การประทุโซลาร์แฟลร์ขนาดใหญ่ที่สุดมีพลังงานสูงเทียบเท่ากับระเบิดไฮโดรเจนหลายล้านลูก หรือมีพลังงานเพียงพอที่จะใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาได้นานถึง 100,000 ปี

ปัจจุบันนักดาราศาสตร์อยู่ในช่วงเริ่มต้นการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างและ ปฏิกิริยาภายในของดวงอาทิตย์เพื่อจะทำนายปรากฏการณ์อันน่าพิศวงอย่างเช่นโซลาร์แฟลร์นี้ต่อไป

#10 หลุมดำ

หลุมดำกำเนิดจากการยุบตัวของดาวฤกษ์มวลมากเมื่อสิ้นอายุขัย ความน่าพิศวงของหลุมดำก็คือมันมีความหนาแน่นมากจน กระทั่งไม่มีสิ่งใดๆ จะหลุด รอดจากแรงโน้มถ่วงอันมหาศาลของมันได้แม้กระทั่งแสง และทุกวันนี้พวกเรารู้เรื่องเกี่ยวกับมันน้อยมาก

แบ่งปัน